ที่มาและความสำคัญ

    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งมีภาระหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 รับผิดชอบกำกับ ดูแล ส่งเสริม และช่วยเหลือให้โรงงานควบคุม และอาคารควบคุมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ซึ่งภายใต้ภารกิจดังกล่าวนั้น กำหนดให้กองกำกับและอนุรักษ์พลังงานมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ในการกำกับ ดูแล ส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม โดยทุกปีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม จะต้องดำเนินการจัดทำรายงานการจัดการพลังงานส่งมายังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งในรายงานการจัดการพลังงานนั้น จะแสดงถึงกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดการพลังงานตามกฎหมาย เช่น การแต่งตั้งคณะทำงาน รายงานข้อมูลการใช้พื้นที่ การผลิต การใช้พลังงาน และมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงกำหนดให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมจะต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานก่อนนำส่งรายงานการจัดการพลังงาน มายังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดังนั้น หากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีเครื่องมือที่สามารถกำกับ ดูแล และประเมินประสิทธิภาพของผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมตามกฎหมายกําหนด พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นให้กับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ให้สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง ก็จะส่งผลให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุมสามารถจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลประหยัด ทําให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ

   ปัจจุบัน พพ. ได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การยื่นคำขอรับใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน เพื่อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กําหนดในกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับใบอนุญาต และการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ. 2555 ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้มีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ได้รับใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานจาก พพ. จำนวนมากกว่า 300 ใบอนุญาต โดยมีผู้ชำนาญการและผู้ช่วยผู้ชำนาญการ จำนวนรวมมากกว่า 2,000 คน และในปี 2560 เป็นต้นมา พพ. ได้ออกประกาศฯ ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน เข้าดำเนินการตรวจสอบและรับรองรายงานการจัดการพลังงาน ให้แก่โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม จำนวนรวมมากกว่า 9,500 แห่ง จากเหตุผลดังกล่าว พพ. จึงเล็งเห็นความจําเป็นที่ต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานขึ้น

   ที่ผ่านมาในการทวนสอบผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพนั้น พพ. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำการทวนสอบข้อมูลจากเล่มรายงานการจัดการพลังงาน (โรงงานควบคุม/อาคารควบคุม) และเล่มรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน (ผู้ตรวจสอบและรับรอง) ซึ่งใช้เวลาและงบประมาณค่อนข้างมากในการดำเนินการ อีกทั้งยังไม่มีกระบวนการ วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับ ติดตาม ประเมินผลประสิทธิภาพของผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการรับใบอนุญาตและตามที่กฎหมายกำหนด พพ. จึงมีความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบที่จะดำเนินการพัฒนาภายใต้โครงการจะประกอบด้วย

   1) แพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลรายงานการจัดการพลังงานและข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ซึ่งแพลตฟอร์มที่จะทำการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ มีลักษณะการทำงานโดยเป็นการดึงข้อมูลจากระบบแพลตฟอร์มการจัดการพลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม (การจัดเก็บข้อมูล การจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอน ตามกฎหมาย) และระบบแพลตฟอร์มการรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน (การจัดเก็บข้อมูลผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานจากผู้ตรวจสอบและรับรอง) โดยแพลตฟอร์มที่จะดำเนินการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะเป็นการนำข้อมูลจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มมาเปรียบเทียบ ทวนสอบความถูกต้องเพื่อหาความผิดปกติของข้อมูล พร้อมทั้งแสดงผลข้อมูลที่มีความผิดปกติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

   2) พัฒนาฐานข้อมูลในลักษณะ Data Warehouse เนื่องจากฐานข้อมูลอนุรักษ์พลังงานหรือฐานข้อมูลเดิมจะต้องรักษา/คงสภาพข้อมูลต้นฉบับตามโรงงาน/อาคารควบคุม ได้จัดส่งมายังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานไว้เป็นหลักฐาน ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ดังนั้น เมื่อทำการตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุงข้อมูลจากระบบแพลตฟอร์มในข้อ 1) เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการโอนถ่ายข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบฐานข้อมูล Data Warehouse เพื่อใช้สำหรับการเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ API กับระบบแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งหน่วยงานภายนอกและหน่วยงานภายใน สำหรับการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Business Intelligence (BI) ที่มีอยู่ เช่น Oracle Discoverer และ Tableau เป็นต้น

   3) แอปพลิเคชันสำหรับใช้เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการ กำกับ ดูแล ผู้ตรวจสอบ ให้ดำเนินการประกอบวิชาชีพในการตรวจสอบและรับรองฯ ได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

   อนึ่ง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับ พัฒนาระบบงานราชการและงานบริการภาครัฐ ในยุคดิจิทัล การพัฒนาบุคลกร เจ้าหน้าที่และวิธีการวัดระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินงานการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด